ซีพี ออลล์-เซเว่นฯ ร่วมต่อยอดแนวคิด พัฒนาทักษะวิชาการควบคู่วิชาชีพ
นอกจากโรงเรียนจะต้องเป็นสถานที่ติดอาวุธความรู้ให้แก่เด็กในด้านวิชาการ โรงเรียนยุคใหม่หลายแห่งในปัจจุบัน กำลังมีบทบาทสำคัญใหม่ในการติดอาวุธความรู้ให้แก่เด็กในด้านวิชาชีพ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย เช่นที่โรงเรียนวัดประดู่หอม (สุขประชาสรรค์) จ.พัทลุง ที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ให้กลายเป็นหนึ่งในโรงเรียนนำร่องโครงการผู้ประกอบการจิ๋ว ช่วยให้เด็กไทยเก่งทั้งการบริหารการเงิน การตลาด ไปจนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์
นายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่นและเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า โรงเรียนวัดประดู่หอม (สุขประชาสรรค์) จ.พัทลุง ถือเป็นหนึ่งใน 6 โรงเรียนนำร่องภายใต้โครงการผู้ประกอบการจิ๋ว ซึ่งเป็นแผนงานหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาโรงเรียนภายใต้ มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED) ของซีพี ออลล์ เฟสที่ 6 เพื่อสร้างคนผ่านการศึกษา ให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาทั้งทักษะการเรียนรู้ ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต ให้แก่เยาวชนและคนในชุมชน ติดอาวุธทักษะวิชาการควบคู่วิชาชีพให้แก่คนรุ่นใหม่ ช่วยให้มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งในทุกด้านพร้อมสำหรับการเติบโตสู่โลกภายนอกอย่างยั่งยืนหลังศึกษาจบ
“เราเลือกโรงเรียนวัดประดู่หอม (สุขประชาสรรค์) เป็นโรงเรียนนำร่องโครงการผู้ประกอบการจิ๋วในภาคใต้ ด้วย 3 เหตุผลหลัก ได้แก่ 1.สามารถบูรณาการหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งวิชาการและวิชาชีพ จนเกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้กระจูดได้อย่างยอดเยี่ยม 2.สามารถต่อยอดภูมิปัญญาที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่นอย่างกระจูด ให้กลายเป็นสินค้าที่น่าสนใจ สร้างรายได้กลับสู่ชุมชนอย่างยั่งยืนได้ และ 3.สามารถสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชน ตลอดจนพัฒนานักเรียนและคนในชุมชนให้มีทักษะการเป็นผู้ประกอบการ” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ โรงเรียนวัดประดู่หอม (สุขประชาสรรค์) มีผลิตภัณฑ์จากเส้นกกและกระจูด ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านหลากหลายชนิด อาทิ กระเป๋าจากกระจูดสานมือ หูหิ้วถ้วยกาแฟจากเส้นกกโดยผลิตภัณฑ์ได้มีโอกาสเข้าไปวางจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น จำนวน 19 สาขาในเขตภาคใต้ตอนล่าง สร้างรายได้กลับสู่โรงเรียนและชุมชน
ที่ผ่านมา คุณครูและนักเรียนจำนวนกว่า 200 คน ในโรงเรียน ได้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การประยุกต์หลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกระจูด เข้ากับกลุ่มสาระการเรียนรู้ทุกรายวิชา สอนทั้งการแปรรูปกระจูด การแปรรูปเส้นกก การออกแบบและเพนท์ลายกระจูด การบริหาร การเงิน การไลฟ์สดขายของ ช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้ทุกขั้นตอนของการเป็นผู้ประกอบการ สามารถช่วยครอบครัวทำเป็นอาชีพเสริม ช่วยโรงเรียนและชุมชนให้มีรายได้
นางวิไล ยศกิจ อาจารย์ผู้ก่อตั้งโครงการ โรงเรียนวัดประดู่หอม (สุขประชาสรรค์) กล่าวว่า โรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการ CONNEXT ED กับทางซีพี ออลล์ ตั้งแต่ประมาณปีการศึกษา 2562 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ องค์ความรู้ ทักษะที่เกี่ยวข้องกับการเป็นผู้ประกอบการ ทักษะยุคดิจิทัล และได้บูรณาการหลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกระจูดและเส้นกก เข้ากับรายวิชาต่างๆ ของนักเรียน ตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2 จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เริ่มจากค่อยๆ เรียนรู้ภาพของกระจูด แหล่งที่ตั้ง ประโยชน์ วิธีการเลือก วิธีการจักสานกระเป๋า วิธีการตัด วิธีการควั่น การทำบัญชีรายรับรายจ่าย การไลฟ์ขายของ การจัดระบบ ไปจนถึงการตลาด
“โครงการผู้ประกอบการจิ๋ว ช่วยให้เด็กๆ มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทั้งด้านการปฏิสัมพันธ์ การพูด การจักสาน การตลาด ตัวผลิตภัณฑ์กระเป๋ากระจูดก็ได้รับการบอกต่อแบบปากต่อปาก จนวันนี้เรามีเพจกระจูดนักเรียน เป็นหนึ่งในช่องทางการจัดจำหน่าย ราคาจัดจำหน่ายมีตั้งแต่แบบที่ยังไม่ตกแต่งใบละ 60-80 บาท ไปจนถึงแบบที่ตกแต่งอย่างสวยงามด้วยลูกปัด ใบละหลักพัน สร้างรายได้กลับสู่โรงเรียน ชุมชน และตัวนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ ไปจนถึงช่วงโยกย้ายตำแหน่ง ที่เคยมียอดสั่งซื้อสูงสุดหลักแสนบาท” นางวิไล กล่าว
ทั้งนี้ เธอรู้สึกภูมิใจที่เห็นนักเรียน โรงเรียนและชุมชนพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากชุมชนที่นี่เป็นชุมชนยากจน ชุมชนแออัด พอโรงเรียนเป็นตัวนำ ก็มีส่วนช่วยให้ผลิตภัณฑ์จากกระจูดซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น มีมูลค่าสูงขึ้น และเป็นที่รู้จักวงกว้างมากขึ้น นักเรียนก็ได้มีกิจกรรมที่สร้างประโยชน์ร่วมกับครูและผู้ปกครอง
ด้าน ด.ญ.ธมลวรรณ ปากลาว นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนวัดประดู่หอม (สุขประชาสรรค์) หรือ น้ำขิง กล่าวว่า ตัวเธอเองได้เริ่มเรียนรู้เรื่องการสานกระจูดจากคุณป้าของเธอตั้งแต่ประมาณชั้น ป.2 และได้มาต่อยอดทักษะอื่นๆ เช่น การขายของออนไลน์ผ่านเพจกระจูดนักเรียน การเพนท์ลายกระเป๋าเป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลายการ์ตูน ได้มีทักษะวิชาชีพติดตัว ได้สนิทสนมกับพี่ๆ ชั้นอื่นๆ ผ่านการทำกระจูดร่วมกัน และได้เงินค่าทำกระจูดเป็นทุนการศึกษาในอนาคต
“เมื่อก่อนไลฟ์สดขายของ ได้รับกระแสตอบรับไม่ค่อยดี แต่พอได้รับคำแนะนำจากทางซีพี ออลล์ ก็ได้รับการตอบรับที่ดีขึ้น ลูกค้าสนใจมากขึ้น ตอนนี้มีทั้งลูกค้าในท้องที่ ลูกค้าคนไทย ลูกค้าต่างชาติ เข้ามาสั่งซื้อสินค้า พวกหนูก็มีรายได้จากการช่วยโรงเรียนไลฟ์สดและจักสาน จนตอนนี้มีเงินเก็บเป็นทุนการศึกษาประมาณ 3,000 บาทแล้ว อนาคต อยากกลับมาเป็นครูสอนการจักสาน” ด.ญ.ธมลวรรณ กล่าว
ปัจจุบัน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ดูแลโรงเรียนภายใต้ CONNEXT ED รวมประมาณ 610 โรงเรียน รวมจำนวนนักเรียนกว่า 160,000 คน โมเดลที่ประสบความสำเร็จของโรงเรียนวัดประดู่หอม (สุขประชาสรรค์) จะเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายผลไปสู่โรงเรียนอื่นๆ ภายใต้ CONNEXT ED เพิ่มเติม โดยเฉพาะโรงเรียน CONNEXT ED ในภาคใต้ เพื่อสร้างรากฐานการศึกษาไทยให้แข็งแรง ช่วยติดอาวุธให้เด็กไทยยุคใหม่มีภูมิคุ้มกันที่ดี เติบโตไปได้อย่างยั่งยืน