• การประชุมกนง. วันที่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25% ตามคาด มองว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกับศักยภาพ เงินเฟ้อที่โน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่ปรับสูงขึ้น --- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2568 มีความเป็นไปได้ที่กนง. อาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีกราว 2 ครั้ง ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ ขณะที่ ทิศทางเงินเฟ้อในปี 2568 ยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำกว่าเป้าหมายของกนง. ที่ 1-3%
Home คปภ. ร่วมเปิด Your Data : ข้อมูลของคุณ สู่บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์
คปภ. ร่วมเปิด Your Data : ข้อมูลของคุณ สู่บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์

คปภ. ร่วมเปิด Your Data : ข้อมูลของคุณ สู่บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ได้รับเกียรติจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวสุนทรพจน์หัวข้อ “การเสริมสร้างสิทธิการใช้ข้อมูล สู่บริการประกันภัยที่เข้าใจคุณ” ในงานเปิดตัวโครงการ “Your Data : ข้อมูลของคุณ สู่บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์” ณ ห้องภัทรรวมใจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงานและกล่าวสุนทรพจน์หัวข้อ “ยกระดับเศรษฐกิจการเงินดิจิทัลด้วยข้อมูล” นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวสุนทรพจน์หัวข้อ “สร้างโอกาสทางการเงินด้วยข้อมูลของคุณ” และนางวรัชญา ศรีมาจันทร์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวสุนทรพจน์หัวข้อ “เสริมสร้างความสามารถจัดการเงินของคุณด้วยข้อมูลคุณเอง”

 


ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. กล่าวสุนทรพจน์หัวข้อ “การเสริมสร้างสิทธิการใช้ข้อมูล สู่บริการประกันภัยที่เข้าใจคุณ” ในงานเปิดตัวโครงการ “Your Data : ข้อมูลของคุณ สู่บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์” มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า การเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงข้อมูลของตนเองได้อย่างเปิดกว้าง โปร่งใส และปลอดภัย โดยการเชื่อมโยงข้อมูลกับภาคธนาคาร ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการให้บริการทางการเงิน อันจะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น สำหรับภาคประกันภัยนั้น สำนักงาน คปภ. ได้เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย Open Insurance มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้พัฒนาจากแนวทางการเปิดกว้างการเข้าถึงข้อมูลในธุรกิจประกันภัยจากต่างประเทศ โดยสำนักงาน คปภ. ได้มีการดำเนินงานใน 4 มิติหลัก ๆ คือ มิติแรก ด้านการใช้ข้อมูลในการพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยสำนักงาน คปภ. ได้ร่วมมือกับภาคธุรกิจ ส่งเสริมการใช้ Open Data เพื่อสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ ๆ และปรับปรุงบริการ โดยการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ข้อมูลในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เช่น การเชื่อมโยงข้อมูลค่ารักษาระหว่างโรงพยาบาลเอกชนและบริษัทประกันภัย รวมถึงการกำหนดมาตรฐานรายการค่ารักษาพยาบาล การส่งเสริมพัฒนาระบบ eClaim เชื่อมโยงข้อมูลประกันภัย พ.ร.บ. ให้โรงพยาบาลตรวจสอบความคุ้มครองในกรณีอุบัติเหตุทางรถยนต์ เพื่อการวางแผนการรักษาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มิติที่สอง ด้านการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงาน สำนักงาน คปภ. ได้พัฒนาโครงการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยในการวิเคราะห์และตัดสินใจอย่างแม่นยำ เช่น การเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบก “ระบบรายงานข้อมูลประกันภัยรถภาคบังคับ (Compulsory Motor Insurance System : CMIS)” เป็นระบบที่มีการรายงานการรับประกันภัยรถภาคบังคับผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทันทีหลังจากมีการรับประกันภัย Real Time และมีการเชื่อมโยงผ่านระบบ CMIS ของสำนักงาน คปภ. กับระบบ e-Service ของกรมการขนส่งทางบกเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการตรวจสอบการทำประกันภัย พ.ร.บ. ก่อนการต่อภาษีรถยนต์ การเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมเจ้าท่า เพื่อการตรวจสอบประกันภัยเรือโดยสารให้มีความคุ้มครองผู้โดยสารครบถ้วนก่อนการออกเรือแต่ละเที่ยว มิติที่สาม ด้านการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ สำนักงาน คปภ. ได้เปิดเผยข้อมูลสถิติเกี่ยวกับการประกันภัยในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและนำไปใช้ได้จริง เพื่อให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสถิติสำคัญของอุตสาหกรรมประกันภัย และข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย เป็นต้น และมิติที่สี่ ด้านการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมประกันภัยแบบเปิด หรือ Open Insurance โดยสำนักงาน คปภ. ได้ส่งเสริมการใช้ Open Insurance เพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการประกันภัยให้เกิดการใช้ข้อมูลในทางสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาบริการประกันภัยที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ยุติธรรม และช่วยลดต้นทุนของผู้บริโภค

 


ทั้งนี้ การดำเนินการขับเคลื่อนทั้ง 4 มิติดังกล่าว เป็นความมุ่งมั่นของสำนักงาน คปภ. ในการขับเคลื่อนนโยบาย Open Insurance ซึ่งจะยกระดับการแบ่งปันข้อมูลจากภายในภาคการประกันภัย เชื่อมโยงไปยังหลายภาคส่วน เช่น ภาคการเงิน และภาคตลาดทุนอย่างเป็นระบบและมีความปลอดภัยในการเก็บรักษาข้อมูลที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ในส่วนของภาคธุรกิจประกันภัย การเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคจะเป็นปัจจัยสำคัญ ในการขับเคลื่อนธุรกิจให้ทันสมัยมากขึ้น ข้อมูลจะกลายเป็นขุมพลังในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ สำหรับผู้บริโภค “ข้อมูลของคุณ สู่บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์” ไม่ได้เป็นเพียงแค่นโยบายทางเทคนิค แต่เป็นการมอบอำนาจให้ผู้บริโภคสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลของตนเองได้อย่างเต็มที่และสามารถตัดสินใจทางการเงินและการประกันภัย อย่างเหมาะสมและครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิต หรือการเลือกซื้อกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน ผู้บริโภคจะสามารถเลือกสิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการของตนเองได้มากขึ้น ลดต้นทุนในการเข้าถึงข้อมูล และสร้างความเชื่อมั่นในการเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินและประกันภัย

 


เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า Open Data มีความสำคัญในการส่งเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง เพราะเมื่อผู้บริโภคมีความมั่นใจในระบบการเงินและการประกันภัย ผู้บริโภคจะเลือกใช้เครื่องมือในการรับมือกับความเสี่ยงในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมประกันภัยและระบบการเงินในประเทศไทยสามารถก้าวเข้าสู่ตลาดโลกอย่างเต็มศักยภาพ สร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ และทำให้ประเทศไทยสามารถยืนหยัดในเวทีโลกได้อย่างมั่นคง

อย่างไรก็ตาม นโยบาย Open Data ไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในนามของสำนักงานคปภ. ขอขอบคุณรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ได้ให้การสนับสนุนและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด
เพื่อสร้างเครื่องมือให้กับประชาชนทุกคนมีความมั่นใจในระบบการเงิน ได้รับบริการทางการเงินที่ครบวงจร และบริการวางแผนทางการเงินที่เหมาะสม ภาคธุรกิจจะมีศักยภาพในการแข่งขัน และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะมีความยั่งยืนอย่างแท้จริง