สมาคมนักวางแผนการเงินไทย เร่งสร้างนักวางแผนการเงิน CFP® รองรับดีมานด์เตรียมพร้อมก่อนวัยเกษียณ
‘สมาคมนักวางแผนการเงินไทย’ เผยผลสำรวจด้านการให้บริการวางแผนการเงินในอนาคตโดย FPSB ระบุความต้องการใช้บริการวางแผนการเงินของประชากรโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากความต้องการเตรียมความพร้อมเพื่อวัยเกษียณ และความผันผวนทางเศรษฐกิจทั่วโลก ขณะที่คนไทยตื่นตัวเรื่องวางแผนการเงินมากขึ้น จึงต้องเร่งสร้างนักวางแผนการเงิน CFP เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการเงินก่อนวัยเกษียณ
นายวิโรจน์ ตั้งเจริญ นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย (Thai Financial Planners Association – TFPA) เปิดเผยว่าจากผลสำรวจการให้บริการวางแผนการเงินในอนาคต จัดทำโดย FPSB (Financial Planning Standards Board Ltd.) เมื่อปลายปี 2564 สอบถามความคิดเห็นจากนักวางแผนการเงิน CFP จำนวน 4,250 คนทั่วโลก พบว่า 82% มีความเชื่อมั่นว่าความต้องการใช้บริการวางแผนการเงินจะเพิ่มขึ้นในอีก 5 ปี (ปี 2565-2569) โดยปัจจัยที่มีผลสูงสุด 61% มาจากความต้องการเตรียมพร้อมเพื่อวัยเกษียณ ในขณะที่ 41% มาจากความต้องการคำปรึกษาเนื่องจากความผันผวนทางเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการใช้บริการที่ลูกค้าต้องการจากนักวางแผนการเงิน CFP มากที่สุดในอนาคต พบว่า 69% คือการวางแผนเพื่อการเกษียณ
ณ สิ้นปี 2566 มีนักวางแผนการเงิน CFP ทั่วโลก 233,770 คน เพิ่มขึ้น 10,768 คน หรือ 5% จากปีก่อนหน้า โดยประเทศไทยมีจำนวนนักวางแผนการเงิน CFP เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วยจำนวน 129 คน หรือ 27.8% เป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกของ FPSB ใน 26 ประเทศทั่วโลก สะท้อนให้เห็นว่าคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP ในประเทศไทยกำลังได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP จํานวน 3,888 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 และมีผู้สมัครสอบมากกว่า 4,000 คน สมาคมฯ จึงเร่งเดินหน้าสร้างนักวางแผนการเงิน CFP และที่ปรึกษาการเงิน AFPT ที่มีความรู้ ความสามารถ และจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพตามมาตรฐานสากล เพื่อให้บริการวางแผนการเงินแก่ประชาชนให้สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินและมีความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว รองรับความต้องการใช้บริการวางแผนการเงินที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ทั้งจากผู้ที่กำลังจะเข้าสู่วัยสูงอายุที่ต้องการเกษียณอย่างมีความสุข และคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเตรียมความพร้อมก่อนวัยเกษียณ
“เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการขยายฐานจำนวนนักวางแผนการเงิน CFP และที่ปรึกษาการเงิน AFPT ในปี 2566 สมาคมฯ ได้ขยายการจัดสอบไปยังต่างจังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.ขอนแก่น และ จ.สงขลา เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการสอบให้สะดวกมากขึ้น และในปีนี้ยังได้เพิ่มรอบสอบของสนามสอบในต่างจังหวัดเป็น 2 รอบต่อปีอีกด้วย รวมทั้งยังได้ทำงานเชื่อมโยงกับทั้งบริษัทสมาชิกของสมาคมฯ และสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เช่น การหารือแนวทางการสนับสนุนนโยบายการสร้างและเพิ่มจำนวนนักวางแผนการเงิน CFP และที่ปรึกษาการเงิน AFPT ในองค์กร และโครงการรับรองการเทียบเคียงความรู้หลักสูตรการเรียนการสอนของสถาบันอุดมศึกษากับหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP เพื่อสร้างนักวางแผนการเงิน CFP และที่ปรึกษาการเงิน AFPT จากกลุ่มนิสิตนักศึกษา โดยนักศึกษาที่ผ่านการเรียนและสอบผ่านหลักสูตรที่ได้รับการรับรองการเทียบเคียงความรู้ จะได้รับการยกเว้นการอบรมหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP และสามารถเข้าสอบได้ทันที ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันอุดมศึกษาที่เทียบเคียงความรู้แล้วรวม 8 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้จัดโครงการ Road to AFPT for Campus โดยมอบทุนการสอบหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP จำนวน 250 ทุนให้นิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยที่สมาคมฯ มีการเทียบเคียงหลักสูตรการเรียนการสอนกับหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP พร้อมทั้งจัดกิจกรรม Open House เพื่อประชาสัมพันธ์อาชีพที่ปรึกษาการเงิน AFPT และนักวางแผนการเงิน CFP และเตรียมความพร้อมให้นิสิตนักศึกษาเพื่อเข้าสู่เส้นทางอาชีพอย่างมั่นใจ” นายวิโรจน์กล่าว
นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันคือการสร้างการรับรู้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายว่าคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP เป็นคุณวุฒิด้านการวางแผนการเงินที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล รวมถึงบทบาทหน้าที่ของนักวางแผนการเงิน CFP และข้อแตกต่างจากที่ปรึกษาการเงินทั่วไป โดยผู้ที่ได้รับคุณวุฒินี้จะต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์มาตรฐานสากลทั้ง 4 ด้าน คือ ผ่านการอบรม การสอบ มีประสบการณ์การทำงาน และปฏิบัติตามจรรยาบรรณ ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำแนะนำโดยพิจารณาภาพรวมทุกๆ ด้านของลูกค้า และให้คำแนะนำโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของลูกค้าเป็นหลัก จึงทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ และยังช่วยให้ผู้รับคำปรึกษามีความสุขในการใช้ชีวิต