• ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองแนวโน้มค่าเงินบาทปี 2568 อาจกลับไปอ่อนค่า แม้มีแรงหนุนบางช่วงจากทองคำ และความไม่แน่นอนของนโยบายทรัมป์ ...หากย้อนกลับมามองที่ปัจจัยพื้นฐานของเงินบาท โดยเฉพาะแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ยังต้องรับมือกับความไม่แน่นอนหลายด้าน ตลอดจนการคาดการณ์เกี่ยวกับโอกาสการปรับลดดอกเบี้ยของไทย คาดว่า เงินบาทยังคงมีโอกาสกลับไปอ่อนค่าในช่วงที่เหลือของปี 2568 (ประมาณการค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2568 โดยธนาคารกสิกรไทย อยู่ที่ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ) *** ปี 2025 KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตได้ช้าลงกว่าที่ประเมินไว้ โดยคาดว่าจะเติบโตได้เพียง 2.3% จากการที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาได้ต่ำกว่าที่คาด ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 3 ครั้ง โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยอาจลงไปต่ำสุดที่ 1.25% ในปี 2026 *** ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองทิศทางเศรษฐกิจไทย 2568 เสี่ยงหลายปัจจัยลบ ทำภาคการผลิตหดตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 3 คาดแรงส่งจากการท่องเที่ยวช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้แบบจำกัด ขณะที่ ยังคงประมาณการจีดีพีปี 2568 เติบโตที่ 2.4% อย่างไรก็ตามท่ามกลางความเสี่ยงสงครามการค้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบมากกว่าที่ประเมิน อาจทำให้การขยายตัวของจีดีพี 2568 มีโอกาสเติบโตต่ำกว่าคาดได้
Home ตลาด mai ต้อนรับ'เทอร์ราไบท์ พลัส-TERA'เทรด 24 เม.ย. นี้
ตลาด mai ต้อนรับ'เทอร์ราไบท์ พลัส-TERA'เทรด 24 เม.ย. นี้

ตลาด mai ต้อนรับ'เทอร์ราไบท์ พลัส-TERA'เทรด 24 เม.ย. นี้

บมจ. เทอร์ราไบท์ พลัส ผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ด้านไอที และให้บริการระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร พร้อมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ 24 เม.ย. นี้ ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 420 ล้านบาท โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “TERA”
 
นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ mai ยินดีต้อนรับ บมจ. เทอร์ราไบท์ พลัส เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายใน mai ภายใต้กลุ่มเทคโนโลยี โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “TERA” ในวันที่ 24 เมษายน 2567
 
TERA ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.เน็กซ์ พอยท์ (NEX) มีบริษัทที่เข้าลงทุน 100% 2 แห่งได้แก่ บริษัท คลัสเตอร์ ซิสเท็มส์ จำกัด และ บริษัท สกายฟร็อก จำกัด โดยกลุ่มบริษัทดำเนินธุรกิจเป็นผู้ออกแบบ ติดตั้ง จัดจำหน่ายอุปกรณ์ด้าน
ไอที และให้บริการเกี่ยวกับระบบโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology: ICT) ขนาดใหญ่แบบครบวงจร จัดจำหน่ายและให้บริการด้านระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) บริการระบบเก็บข้อมูลและประมวลผลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในรูปแบบสมาชิกต่อเนื่อง (Cloud & Recurring Services) จัดจำหน่ายและให้บริการซอฟต์แวร์ระบบบริหารจัดการการขนส่งกระจายสินค้าและโลจิสติกส์ (Transportation Management System: TMS) และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และให้บริการ รวมถึงฝึกอบรมด้านการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) กลุ่มบริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไอทีแบรนด์ชั้นนำ อาทิ Hewlett-Packard Enterprise (HPE), DELL Technologies, IBM, Microsoft, AWS, VMware, Veeam เป็นต้น ในปี 2566 บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากการขายต่อการให้บริการเท่ากัน 50 : 50% โดยมีกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชนขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ในหลากหลายกลุ่มธุรกิจ และ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีมูลค่างานที่ยังไม่ได้ส่งมอบจำนวน 344 ล้านบาท
 
TERA มีทุนชำระแล้วหลัง IPO 120 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 150 ล้านหุ้นและหุ้นสามัญเพิ่มทุน 90 ล้านหุ้น เสนอขายต่อผู้ถือหุ้นของ NEX ที่มีสิทธิจองซื้อหุ้นตามสัดส่วนการถือหุ้น (Pre-emptive Rights) ไม่เกิน 36 ล้านหุ้น ผู้มีอุปการคุณของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ไม่น้อยกว่า 41 ล้านหุ้น ผู้มีอุปการคุณของบริษัทหรือบริษัทย่อย ไม่เกิน 4.5 ล้านหุ้น กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทหรือบริษัทย่อย รวมถึงผู้มีความสัมพันธ์ ไม่เกิน 8.5 ล้านหุ้น โดยเสนอขายผู้ลงทุนทุกประเภทระหว่างวันที่ 3 - 11 เมษายน 2567 ในราคาหุ้นละ 1.75 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 157.50 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 420 ล้านบาท ทั้งนี้ การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) ที่ประมาณ 14.50 เท่า คำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลกำไรสุทธิในงวดปี 2566 ซึ่งเท่ากับ 28.96 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ (fully diluted) คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.12 บาท โดยมีบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน มีบริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญ
                                                                                                                                                                                      
นายสุรสิทธิ์ คิวประสพศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เทอร์ราไบท์ พลัส (TERA) เปิดเผยว่าบริษัทดำเนินธุรกิจด้วยประสบการณ์กว่า 19 ปี เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับคู่ค้าเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล มาอย่างต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน มีทีมงานมืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญ มีการให้บริการที่ดี ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจร สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้จะนำไปใช้ลงทุนในระบบ Cloud ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่มีศักยภาพ เพื่อรองรับการเติบโตของบริษัท และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในกิจการ
 
TERA มีผู้ถือหุ้นใหญ่หลัง IPO คือ NEX ถือหุ้น 31.88% นายสุรสิทธิ์ คิวประสพศักดิ์ ถือหุ้น 8.61% และ นายจิราวัฒน์ จารุฐิติพันธุ์ ถือหุ้น 7.86% โดยบริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 50% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทฯ หลังหักเงินสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่กฎหมายกำหนดและตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับบริษัท
 
ผู้ลงทุนและผู้สนใจ สามารถดูรายละเอียด จากหนังสือชี้ชวนของบริษัทที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ www.sec.or.th และข้อมูลทั่วไปของบริษัทที่ www.terabyteplus.com และ www.set.or.th