กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) พร้อมเริ่มทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ โดยให้เวลาผ่อนชำระสูงสุด 15 ปี ในการชำระเงินงวดสุดท้ายผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปี ให้ส่วนลดเบี้ยปรับ 100% ปลดภาระผู้ค้ำประกันหลังจากทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ปรับเปลี่ยนลำดับการตัดชำระใหม่จากเดิม เบี้ยปรับ ดอกเบี้ย เงินต้น เป็นตัดเงินต้นส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ โดยเปิดให้ผู้กู้ยืมเข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับกองทุนได้ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป ผู้กู้สามารถลงทะเบียนนัดหมายวันเข้าทำสัญญาล่วงหน้าทางเว็บไซต์ www.studentloan.or.th ทั้งนี้ ในช่วง 3 เดือนแรก กองทุนจะเปิดให้เข้ามาทำสัญญาทุกวันไม่เว้นวันหยุด เวลา 09.00-20.00 น. และจะเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ได้ทำสัญญาตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศต่อไป
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า “ขณะนี้กองทุนฯ ได้เตรียมดำเนินการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระของผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนให้เป็นไปตามประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา และตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 โดยผู้กู้ยืมที่มีสิทธิ์เข้าทำสัญญา ปรับโครงสร้างหนี้ ได้แก่ กลุ่มก่อนฟ้องคดี กลุ่มที่บอกเลิกสัญญาแล้วแต่ยังไม่ฟ้องคดี กลุ่มที่ฟ้องคดีแล้วแต่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา กลุ่มที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วแต่ยังไม่บังคับคดีและได้บังคับคดีแล้ว รวมทั้งกลุ่มอื่น ๆ ทั้งหมด โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้กู้ยืมจะต้องผ่อนชำระเงินคืนกองทุนฯ เป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือน ผู้กู้ยืมต้องชำระภายในวันที่ 5 ของทุกเดือนให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี และในการชำระเงินงวดสุดท้าย ผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์
ทั้งนี้ ผู้กู้ยืมสามารถลงทะเบียนนัดหมายเข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2567 ทางเว็บไซต์ www.studentloan.or.th และจะเริ่มทำสัญญาได้ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป ที่สำนักงานของกองทุนฯ หลังจากนั้นจะเริ่มเปิดให้ผู้กู้เข้าทำสัญญาได้ตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งกองทุนฯจะได้ประกาศให้ทราบต่อไป ทั้งนี้ ในช่วงแรกคาดว่าจะมีลูกหนี้เข้ามาทำสัญญาจำนวนมาก ดังนั้น ในช่วง 3 เดือนแรกกองทุนฯ จะเปิดให้เข้ามาทำสัญญาทุกวันไม่เว้นวันหยุดเวลา 09.00-20.00 น. ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าว จะส่งผลให้ผู้กู้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ปลดภาระผู้ค้ำประกัน รวมถึงลดกระบวนการดำเนินคดี/บังคับคดี ซึ่งคาดว่าจะมีเงินกลับเข้ามาที่กองทุนฯ อย่างต่อเนื่อง และทำให้มีเงินหมุนเวียนเพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษา รุ่นน้องต่อไป” ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าวในที่สุด