• Krungthai COMPASS เผยอัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค. 68 อยู่ที่ 0.84% คาดเงินเฟ้อมีทิศทางชะลอลงระยะข้างหน้า ท่ามกลางแรงกดดันจากสงครามการค้า ประเมินว่า ทิศทางเงินเฟ้อของไทยระยะข้างหน้ายังมีโมเมนตัมที่อ่อนแรงลง ปัจจัยหลักจากอุปสงค์ภายในประเทศซึ่งมีสัญญาณแผ่ว และทิศทางราคาพลังงานที่ลดลง โดยอุปสงค์ในประเทศยังคงเปราะบาง สะท้อนจากดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ในเดือน ก.พ. 68 ที่ปรับลดลงทั้งหมวดเครื่องจักร ยานพาหนะ และก่อสร้าง ส่งผลให้ดัชนีโดยรวมหดตัว 7.7%YoY
Home กลุ่มเอสซีบีเอกซ์ จัดนิทรรศการฯ 'ตามรอยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ฯ เจ้าฟ้านักอนุรักษ์'
กลุ่มเอสซีบีเอกซ์ จัดนิทรรศการฯ 'ตามรอยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ฯ เจ้าฟ้านักอนุรักษ์'

กลุ่มเอสซีบีเอกซ์ จัดนิทรรศการฯ 'ตามรอยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ฯ เจ้าฟ้านักอนุรักษ์'

เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ ๗๐ พรรษา ในวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๘ กลุ่มเอสซีบีเอกซ์ โดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติ “ตามรอยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ เจ้าฟ้านักอนุรักษ์” เพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งในปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ รัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ ๒ เมษายนของทุกปีเป็น "วันอนุรักษ์มรดกไทย" เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้จัดพิธีเปิดนิทรรศการ ฯ โดยมี นายวรวัจน์ สุวคนธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานทรัพยากรบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แทนกลุ่มเอสซีบีเอกซ์เปิดงาน พร้อมด้วย รศ.ดร.หนึ่งฤดี โลหผล หัวหน้าโครงการอนุรักษ์ โครงการคลังข้อมูลของแผ่นดินสยาม ฯ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.รัชพล เต๋จ๊ะยา ครูช่างศิลปหัตถกรรมกระจกเกรียบโบราณ ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยบ้านเต๋จ๊ะยา ร่วมถ่ายทอดเรื่องราวและประสบการณ์ในการทำงานด้านการอนุรักษ์เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นต่อไปได้เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่
 


นิทรรศการ ฯ จัดแสดงตัวอย่างผลงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและพระราชจริยวัตรด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบทอดงานด้านศิลปวัฒนธรรม เพื่อน้อมนำหลักการทรงงานมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานให้สัมฤทธิ์ผลและเกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยอย่างยั่งยืน ผ่านงานอนุรักษ์ต่าง ๆ โดยการใช้วิทยาการและเทคโนโลยี ทั้งภูมิปัญญาดั้งเดิมและเทคโนโลยีใหม่ที่เหมาะสม ได้แก่
 


โครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง เนื่องในวาระครบ ๒๐๐ ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับพระราชภารกิจเป็นแม่กองในการบูรณปฏิสังขรณ์ ด้วยความเอาพระทัยใส่ในงานทุกส่วน ทรงเน้นย้ำเรื่องการศึกษาก่อนทำการอนุรักษ์ ทำให้เกิดการฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมไทยโบราณอันทรงคุณค่าที่สูญหายไป อาทิ การบูรณะปฏิสังขรณ์การประดับกระจกสีที่พระอุโบสถและอาคารอื่น ๆ ทรงให้ค้นคว้าภูมิปัญญาการหุง “กระจกเกรียบ” มหัศจรรย์ประณีตศิลป์แห่งสยามที่สูญหายไปแล้ว โดยมีพระบัญชาให้เก็บตัวอย่างกระจกเดิมที่เหลืออยู่เล็กน้อยไว้ที่เสาระเบียงพระอุโบสถและซุ้มใบเสมา ๑ ซุ้ม เพื่อเป็นหลักฐานให้นักวิชาการและนักวิจัยรุ่นใหม่ใช้เป็นข้อมูลอ้างอิง ซึ่งก่อให้เกิดการศึกษาค้นคว้าวัสดุทดแทนโดยการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ร่วมกับภูมิปัญญาดั้งเดิม สร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมเชิงวัฒนธรรมอย่างกลมกลืน ซึ่งมีผู้ค้นคว้า วิจัยหลายโครงการ หนึ่งในนั้นคือ โครงการวิจัยค้นคว้าของ ดร.รัชพล เต๋จ๊ะยา อาจารย์วิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีความสนใจงานช่างศิลป์ทำแก้วสีแบบเก่าตามตำราโบราณ ที่ได้รับองค์ความรู้ตกทอดมาจากต้นตระกูลชาวไทเขิน และได้ทำการวิจัยค้นคว้า จนสามารถฟื้นฟูศาสตร์และศิลปะการหุงกระจกเกรียบตามแบบดั้งเดิมได้สำเร็จ สามารถขยายผลสู่งานการบูรณะเครื่องราชภัณฑ์ในสำนักพระราชวัง โบราณสถาน และโบราณวัตถุที่สำคัญของชาติ เช่น พระพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) และโครงการบูรณะพระไสยาสน์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ อันเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานรักษาความงดงามของอารยธรรมให้คงอยู่คู่ชาติไทย

 


การอนุรักษ์พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี แห่งการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คณะนักวิชาการของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจพบว่าพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประดิษฐาน ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ มีอายุกว่าหนึ่งร้อยปีมีความชำรุดเสื่อมสภาพ พระบรมฉายาลักษณ์ทั้ง ๒ องค์ เป็นผลงานศิลปะภาพถ่ายที่ทรงคุณค่ายิ่ง เป็นหลักฐานการพิมพ์ภาพจากฟิล์มกระจกลงบนกระดาษขนาดใหญ่เสมือนพระองค์จริง (Life-size photographs) ซึ่งในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ เป็นกรณีที่ทำได้ยากยิ่ง ทรงตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดความเสียหายเมื่อเปิดกรอบภาพโบราณเพื่อการบูรณะ จึงมีรับสั่งให้ศึกษาหาวิธีสำรอง เพื่อเตรียมจัดทำชิ้นงานเสมือนภาพต้นฉบับอีกวิธีหนึ่ง ด้วยพระราชูปถัมภ์และแนวพระราชดำริ จึงได้เกิดโครงการอนุรักษ์พระบรมฉายาลักษณ์ โดยมีขั้นตอนการอนุรักษ์อย่างเป็นระบบ ทั้งกระบวนการศึกษา ค้นคว้า บูรณะงานชิ้นเดิม และสามารถสร้างผลงานชิ้นใหม่ ด้วยกระบวนการพิมพ์ภาพด้วยเทคนิคการพิมพ์ภาพถ่ายด้วยแร่แพลทินัมและแร่แพลเลเดียม (Platinum-Palladium Print) ได้อีกครั้ง ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีการพิมพ์ภาพที่มีความงดงามและสีจะคงสภาพเดิมแม้เวลาจะผ่านไปเป็นศตวรรษ การอนุรักษ์พระบรมฉายาลักษณ์ทั้ง ๒ องค์นี้ ทำให้เห็นความสำคัญของการเก็บข้อมูลเอกสาร ซึ่งเป็นองค์ความรู้ เป็นฐานข้อมูลให้กับการศึกษา วิจัย รวมถึงการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุของชาติ รวมถึงคลังเอกสารที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของไทยซึ่งปัจจุบันอยู่ในต่างประเทศ จึงนำมาสู่การกำเนิดโครงการคลังข้อมูลของแผ่นดินสยามต่อไป


โครงการ “คลังข้อมูลของแผ่นดินสยาม” ยุครัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ จากภารกิจงานอนุรักษ์พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ ซึ่งเป็นผลงานศิลปะภาพถ่ายที่ทรงคุณค่ายิ่ง นำมาสู่การต่อยอดการอนุรักษ์เอกสารประวัติศาสตร์สำคัญของสยาม โดยใช้นวัตกรรมบันทึกอดีตสู่การพัฒนาคลังปัญญาแห่งอนาคต โดยเป็นโครงการที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มีส่วนร่วมสนับสนุนผ่านมูลนิธิมหาจักรีสิรินธร เพื่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การดูแลของ รศ.ดร.หนึ่งฤดี โลหผล หัวหน้าโครงการอนุรักษ์ โครงการคลังข้อมูลของแผ่นดินสยาม ฯ เพื่อรวบรวม สร้างคลังข้อมูลประวัติศาสตร์ของแผ่นดินไทยที่กระจายอยู่ในต่างประเทศ กลับสู่แผ่นดินไทยในรูปแบบคลังดิจิทัลความละเอียดสูง ตามแนวพระปณิธานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยในนิทรรศการ ฯ นี้ ได้นำผลงานบางส่วนที่ยังไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน มาจัดเผยแพร่สู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก เช่น สำเนาพิมพ์เขียว อาคารแบงก์สยามกัมมาจล (Siam Commercial Bank) ธนาคารไทยแห่งแรกของประเทศ ซึ่งนายมารีโอ ตามานโญ (Mario Tamagno) สถาปนิกชาวอิตาเลียนผู้มีสัญญารับราชการกับรัฐบาลสยาม ช่วงรัชกาลที่ ๕ และ รัชกาลที่ ๖ ได้นำพิมพ์เขียวต้นฉบับกลับไปเก็บรักษาไว้ที่บ้านพักในประเทศอิตาลี หลังสิ้นสุดสัญญาการว่าจ้างมาทำงานในสยามซึ่งยาวนานกว่า ๒๕ ปี ภาพถ่ายอาคารแบงค์สยามกัมมาจล ที่มีตัวหนังสือลายมือของนายมารีโอ ตามานโญ อ้างอิงตามบัญชีรายการผลงานที่นายมารีโอ ตามานโญ ได้จัดทำขึ้น ระบุว่าเขาเป็นผู้ควบคุมงานเทคนิคก่อสร้างและดูแลงบประมาณที่ใช้เพื่อการก่อสร้างอาคารในช่วง พ.ศ. ๒๔๕๒ - ๒๔๕๓ โดยมีนายอันนีบาเล รีก็อตตี (Annibale Rigotti) เป็นสถาปนิกหลักผู้ออกแบบสถาปัตยกรรม เป็นต้น ซึ่งทั้ง ๒ ชิ้นงานนี้ คณะทำงานโครงการ ฯ ได้เดินทางไปเก็บข้อมูลและสร้างคลังข้อมูลดิจิทัลความละเอียดสูงที่ประเทศอิตาลี โดยได้รับความอนุเคราะห์จากศาสตราจารย์เอเลนา ตามานโญ ทายาทของนายมารีโอ ตามานโญ


ขอเชิญผู้ที่สนใจร่วมศึกษาเรียนรู้พระราชดำริและพระราชจริยวัตรด้านการอนุรักษ์ ไขความลับ “คลังปัญญาแห่งแผ่นดิน คลังข้อมูลแผ่นดินสยาม” และการฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมไทย “กระจกเกรียบ มหัศจรรย์ประณีตศิลป์แห่งสยาม” ได้ที่นิทรรศการเทิดพระเกียรติ “ตามรอยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ฯ เจ้าฟ้านักอนุรักษ์” ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๘ ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ณ พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ (รัชโยธิน) ระหว่างเวลา ๙.๓๐ – ๑๖.๓๐ น. (เว้นวันหยุดธนาคาร)