การเปลี่ยนแปลงนโยบายการสนับสนุนพลังงานสะอาดของสหรัฐอเมริกา ภายใต้นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงการถอนตัวจากข้อตกลงปารีส ส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการดำเนินนโยบายด้านพลังงานสะอาดของสหรัฐอเมริกา รวมถึงเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก อย่างไรก็ตาม ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างยุโรป สหราชอาณาจักร รวมถึงจีน ยังคงให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด และมีมาตรการกีดกันทางการค้า CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ที่ไทยต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐเอง อย่าง Microsoft, Google และ Amazon ยังคงยืนยันเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป เนื่องจากต้องแข่งขันในตลาดโลก นั่นจึงทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่านโยบายต่อต้านพลังงานสะอาดของประธานาธิบดีทรัมป์ อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อทิศทางการลงทุนพลังงานสะอาดของโลกมากนัก เนื่องจากเทรนด์โลกยังคงให้ความสำคัญกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้เกิดภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น
ทิศทางลงทุนพลังงานสะอาดย้ายสู่เอเชีย
บทวิจัยของ Morgan Stanley มองว่า นโยบายด้านพลังงานสะอาดของทรัมป์ จะทำให้เม็ดเงินลงทุนกว่า 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เคลื่อนย้ายออกจากสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะกองทุนรวมที่เน้นลงทุนด้านพลังงานสะอาดและความยั่งยืน ที่เริ่มเบนเข็มสู่ภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะกลายเป็นดาวรุ่ง เพราะหลายประเทศในเอเชียต่างกำลังเร่งพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียน เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานสะอาดและลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้กำลังเร่งพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่ง ข้อมูลจาก Global Wind Energy Council คาดการณ์ว่าภายในปี 2030 กำลังการผลิตพลังงานลมนอกชายฝั่งที่ดำเนินการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเพิ่มขึ้นหกเท่า รวมทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเอเชียจะเป็นตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยอินเดีย จีน และอินโดนีเซีย จะเป็นตลาดใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรก เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก
ทั้งนี้ การแข่งขันด้านเทคโนโลยีสีเขียว โดยมีจีนเป็นผู้นำในที่ครองส่วนแบ่งตลาดแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) กว่าร้อยละ 60 ของโลก และควบคุมการผลิตแร่หายากที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมพลังงานสะอาดถึงร้อยละ 80 ทำให้สหรัฐอเมริกาและยุโรปต้องเร่งหาพันธมิตรใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนี่คือโอกาสของประเทศไทย ที่กำลังก้าวสู่การเป็นฐานผลิตหลักของรถยนต์ EV ที่มีค่ายรถยนต์จากประเทศต่าง ๆ เข้ามาตั้งฐานผลิต จากข้อมูลของบีโอไอ พบว่า ปัจจุบันมีโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารวมทุกค่าย และทุกประเภท รวม 28 โครงการ 22 บริษัท มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 78,000 ล้านบาท และมีกำลังการผลิตรวมกว่า 880,000 คัน
ไทยฮับพลังงานสะอาดในอาเซียน
ประเทศไทยดำเนินนโยบายสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตั้งเป้าหมายก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065 เพื่อสร้างอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ ขณะที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของไทย ปี 2567 - 2580 (Power Development Plan หรือ PDP2024) ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ปัจจุบันไทยมีการผลิตพลังงานสะอาดในประเทศ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26 ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม และจากการจัดอันดับ SDG Index ในปี 2566 ที่ผ่านมา ไทยอยู่ที่อันดับ 43 ของโลก เป็นอันดับ 1 ในอาเซียน โดยได้คะแนนความก้าวหน้าในด้านพลังงานสะอาดสูงสุดในภูมิภาค
ความพร้อมด้านพลังงานสะอาด เป็นจุดแข็งที่โดดเด่นที่สุด ในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุนและตั้งฐานผลิตในประเทศไทย ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐอย่างบีโอไอ ที่ให้การส่งเสริมการลงทุนก็มีประเภทกิจการส่งเสริมการลงทุนในด้านพลังงานสะอาด เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านของภาคอุตสาหกรรมไปสู่การลงทุนสีเขียว โดยให้ความสำคัญกับการสร้างระบบนิเวศเพื่อความยั่งยืนด้านพลังงาน เพิ่มความแข็งแกร่งให้ไทยสามารถพึ่งพาตัวเองได้ เพื่อลดความเสี่ยงในวิกฤตด้านพลังงานในอนาคต โดยสถิติการขอรับการส่งเสริมในกิจการพลังงานสะอาด นับตั้งแต่ปี 2558 – มีนาคม 2568 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมรวมกว่า 2,900 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 560,000 ล้านบาท แบ่งตามประเภทกิจการ ดังนี้
- กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากขยะ หรือเชื้อเพลิงจากขยะ มีจำนวนกว่า 80 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 110,000 ล้านบาท
- กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ เป็นต้น มีจำนวนกว่า 2,800 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 320,000 ล้านบาท
- กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากพลังงานอื่น ๆ มีจำนวนกว่า 30 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 120,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ บีโอไอ ยังได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยหันมาใช้พลังงานทดแทน ตามมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมสู่ Smart and Sustainable Industry โดยตั้งแต่ปี 2558 – มีนาคม 2568 มีจำนวนกว่า 2,400 โครงการ มูลค่ากว่า 220,000 ล้านบาท ถือเป็นการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจสีเขียวตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาส ลดความเสี่ยง และยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของธุรกิจตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน