วิกฤตผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทำให้เรื่องของ "พลังงานทดแทน" เป็นหัวใจสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในระดับขององค์กรและระดับโลก โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้แสดงจุดยืนเดินหน้าสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ภายในปี 2050 ผ่านการใช้พลังงานทดแทนในทุกกระบวนการของการมุ่งสู่ Agri-Tech ตั้งแต่อาหารสัตว์ (Feed) ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ (Farm) และ การแปรรูปอาหาร (Food)
ล่าสุด ซีพีเอฟ ยกระดับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ในรูปแบบของฟาร์ม RE100 (Renewable Energy 100%) พัฒนาฟาร์มไก่ไข่จันทบุรี ต.เขาวงกต อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี จากฟาร์มคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ที่พยายามนำพลังงานทดแทนมาใช้ ด้วยการนำมูลไก่มาผลิตก๊าซชีวภาพสามารถผลิตไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์มได้ประมาณ 80% มาสู่ฟาร์มต้นแบบที่มีการใช้พลังงานทดแทนอย่างเต็มรูปแบบ ช่วยลดการพึ่งการใช้ไฟฟ้าจากภายนอก ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จนได้รับการรับรองเป็น "RE100 Farm" (Renewable Energy 100% Farm) จากบริษัท LRQA (ประเทศไทย) จำกัด เป็นฟาร์มไก่ไข่แห่งแรกของซีพีเอฟที่ใช้พลังงานทดแทน 100% ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานชีวภาพจากมูลไก่ ตามแนวคิด Waste to Value เปลี่ยนรูปของเสียให้เกิดคุณค่า ไม่ปลดปล่อยของเสียหรือมลพิษออกสู่ภายนอก
นายสมคิด วรรณลุกขี ผู้อำนวยการใหญ่ ธุรกิจไก่ไข่ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ มุ่งมั่นผลิตไข่ไก่ที่มีส่วนร่วมลดโลกร้อน โดยนำเทคโนโลยีการผลิตระบบคอมเพล็กซ์มาใช้ มีทั้งโรงเรือนเลี้ยงไก่ โรงคัดไข่อัตโนมัติ และโรงงานแปรรูป อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทำให้ง่ายต่อการจัดการและประหยัดต้นทุนด้านค่าขนส่ง รวมไปถึงการควบคุมดูแลในด้านของความปลอดภัย นอกจากนี้ เราให้ความสำคัญกับการนำมูลไก่มาผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์มทุกแห่ง และมีความพยายามที่จะพัฒนาไปสู่ฟาร์มต้นแบบที่มีการใช้พลังงานทดแทน 100% ดำเนินงานจนบรรลุเป้าหมายเป็นฟาร์มไก่ไข่แห่งแรกของซีพีเอฟ ที่ได้รับการรับรองเป็น RE 100 Farm จาก LRQA
นายพีรพงศ์ กรินชัย ผู้บริหารสูงสุดสายงานวิศวกรรมกลาง ซีพีเอฟ กล่าวว่า ฟาร์มไก่ไข่จันทบุรี เป็นอีกฟาร์มหนึ่งของธุรกิจไก่ไข่ ที่นำมูลไก่มาผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์ม ต่อมาในปี 2566 ฟาร์มได้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 360 กิโลวัตต์พีค (kWp) บนหลังคาเพิ่มเติมโดย บริษัทอัลเตอร์วิม ทำให้ฟาร์มจันทบุรีสามารถผลิตไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสะอาดใช้เองได้ 100% อีกทั้งยังติดตั้งระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ (EMS) ซึ่งเป็นระบบควบคุมการใช้พลังงาน ทำให้สามารถเลือกใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแหล่งกำเนิดต่างๆ ทั้งจากก๊าซชีวภาพและแสงอาทิตย์ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากภายนอก และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 1,000 ตัน CO₂ ต่อปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้มากกว่า 105,000 ต้น
ทั้งนี้ ซีพีเอฟ มีเป้าหมายเพิ่มการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานจากก๊าซชีวภาพและแสงอาทิตย์ พัฒนาฟาร์มแห่งอื่นๆ ของบริษัทฯ ให้เป็น ฟาร์ม RE100 อย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมาย Net-Zero ภายในปี 2050