• Krungthai COMPASS เผยอัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค. 68 อยู่ที่ 0.84% คาดเงินเฟ้อมีทิศทางชะลอลงระยะข้างหน้า ท่ามกลางแรงกดดันจากสงครามการค้า ประเมินว่า ทิศทางเงินเฟ้อของไทยระยะข้างหน้ายังมีโมเมนตัมที่อ่อนแรงลง ปัจจัยหลักจากอุปสงค์ภายในประเทศซึ่งมีสัญญาณแผ่ว และทิศทางราคาพลังงานที่ลดลง โดยอุปสงค์ในประเทศยังคงเปราะบาง สะท้อนจากดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ในเดือน ก.พ. 68 ที่ปรับลดลงทั้งหมวดเครื่องจักร ยานพาหนะ และก่อสร้าง ส่งผลให้ดัชนีโดยรวมหดตัว 7.7%YoY
Home ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทองคำ ปรับตัวขึ้นใกล้โซน 3,100 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทองคำ ปรับตัวขึ้นใกล้โซน 3,100 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทองคำ ปรับตัวขึ้นใกล้โซน 3,100 ดอลลาร์ต่อออนซ์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.17 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 34.58 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในกรอบ 33.94-34.69 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่สามารถปรับตัวขึ้นเข้าใกล้โซน 3,100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่เริ่มผ่อนคลายลงบ้าง หลังล่าสุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศระงับการเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) เป็นเวลา 90 วัน กับบรรดาประเทศต่างๆ ยกเว้นจีน ที่สหรัฐฯ ได้เพิ่มอัตราภาษีนำเข้าเป็น 125% เพื่อตอบโต้มาตรการทางการค้าล่าสุดของทางการจีน ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง หลังบรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) กดดันการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์ก็ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามความต้องการถือสินทรัพย์เสี่ยงสหรัฐฯ ที่กลับมาอีกครั้ง นอกจากนี้ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็ทยอยอ่อนค่าลง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงเช่นกัน

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระงับการเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับบรรดาประเทศต่างๆ เป็นเวลา 90 วัน (ทว่าสินค้าจากจีนจะเผชิญภาษีนำเข้าในอัตราใหม่ที่สูงขึ้นเป็น 125%) ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้หุ้นเทคฯ ใหญ่ ต่างรีบาวด์ขึ้นแรง อาทิ Tesla +22.7%, Nvidia +18.7% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 พุ่งขึ้น +9.52%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ดิ่งลงกว่า -3.50% ท่ามกลางความกังวลผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าล่าสุดของสหรัฐฯ ทว่า ภายหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระงับการเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) บรรดาผู้เล่นในตลาดก็เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น สะท้อนจาก สัญญาฟิวเจอร์สตลาดหุ้นยุโรปล่าสุด อาทิ สัญญาฟิวเจอร์สดัชนี STOXX50 ที่พุ่งขึ้นกว่า +8.8%

ในส่วนตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน แม้จะมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้นบ้าง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ และการปรับลดความคาดหวังของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระงับการเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้เป็นเวลา 90 วัน (ยกเว้นกับจีน) ทว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ถูกชะลอลง จากแรงซื้อของผู้เล่นในตลาด ทำให้โดยรวม บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อย สู่ระดับ 4.28%

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น สอดคล้องกับภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่กดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทยอยอ่อนค่าลง และการปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายความกังวลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ลงบ้าง ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ปรับตัวขึ้นสู่โซน 102.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.8-103.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะปรับตัวลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย. 2025) สามารถแกว่งตัวแถวโซน 3,100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะพลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) เพื่อประเมินภาวะการจ้างงานของสหรัฐฯ พร้อมรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด โดยล่าสุดผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้ง ในปีนี้ (ลดลงจากที่เคยมองว่า เฟดอาจต้องลดดอกเบี้ย 4-5 ครั้ง ในปีนี้)

ส่วนในฝั่งเอเชีย บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ความกังวลผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลง อาจส่งผลให้ ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ตัดสินใจลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 5.50%

และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และการตอบโต้ของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะจีน หลังทางการสหรัฐฯ ได้ปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าต่อสินค้าจีนเป็น 125%

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่า เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงคืนที่ผ่านมา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยสำคัญ คือ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ ทว่า เรามองว่า ราคาทองคำก็อาจยังไม่ได้มีแนวโน้มจะปรับตัวขึ้นไปมากนัก ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดในช่วงนี้ อีกทั้ง ราคาทองคำก็ยังขาดปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติม กอปรกับ ในช่วงตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยง เรามองว่า ความต้องการซื้อสินทรัพย์เสี่ยงสหรัฐฯ และจังหวะการอ่อนค่าของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อาจพอช่วยหนุนให้ เงินดอลลาร์มีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง หรือ อย่างน้อยก็แกว่งตัวในกรอบ Sideways ทำให้ เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มทยอยอ่อนค่าลงได้ แต่หากเงินบาท (USDTHB) กลับมาแข็งค่าขึ้นหลุดโซน 34.10-34.20 บาทต่อดอลลาร์ ชัดเจน เงินบาทก็อาจกลับเข้าสู่ช่วง Sideways หรือมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend-Following

อนึ่ง เรามองว่า ในช่วงเดือนเมษายน จนถึงช่วงเดือนพฤษภาคม เงินบาทยังคงมีปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าที่สำคัญ อย่าง โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เรามองว่า เงินบาทยังพอมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลงได้ แม้ว่า ตลาดจะคลายกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ลงบ้างในช่วงนี้ ทั้งนี้ แม้ว่าทางการสหรัฐฯ จะระงับการเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้กับบรรดาประเทศคู่ค้า ทว่าสหรัฐฯ ได้ปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้ากับสินค้าจากจีนเป็น 125% ทำให้เรามองว่า ความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังมีความร้อนแรงอยู่ ซึ่งอาจกดดันให้ เงินหยวนจีนมีโอกาสอ่อนค่าลงได้บ้าง หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัว Sideways ซึ่งในช่วงนี้ เงินบาทก็เคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินหยวนจีน (โดยเฉพาะ เงินหยวน Offshore) สูงกว่า 70% ทำให้ หากเงินหยวนจีนอ่อนค่าลง ก็อาจสร้างแรงกดดันต่อบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชีย และเงินบาทได้

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.05-34.35 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)