• Krungthai COMPASS เผยอัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค. 68 อยู่ที่ 0.84% คาดเงินเฟ้อมีทิศทางชะลอลงระยะข้างหน้า ท่ามกลางแรงกดดันจากสงครามการค้า ประเมินว่า ทิศทางเงินเฟ้อของไทยระยะข้างหน้ายังมีโมเมนตัมที่อ่อนแรงลง ปัจจัยหลักจากอุปสงค์ภายในประเทศซึ่งมีสัญญาณแผ่ว และทิศทางราคาพลังงานที่ลดลง โดยอุปสงค์ในประเทศยังคงเปราะบาง สะท้อนจากดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ในเดือน ก.พ. 68 ที่ปรับลดลงทั้งหมวดเครื่องจักร ยานพาหนะ และก่อสร้าง ส่งผลให้ดัชนีโดยรวมหดตัว 7.7%YoY
Home กรุงศรี เผย Q1 ปี 68 กำไร 7.53 พันล. สินเชื่อเติบโตมีคุณภาพ
กรุงศรี เผย Q1 ปี 68 กำไร 7.53 พันล. สินเชื่อเติบโตมีคุณภาพ

กรุงศรี เผย Q1 ปี 68 กำไร 7.53 พันล. สินเชื่อเติบโตมีคุณภาพ

กรุงศรีเผยผลกำไรสุทธิไตรมาสแรกปี 2568 จำนวน 7.53 พันล้านบาท เน้นการเติบโตสินเชื่อที่มีคุณภาพ พร้อมบริหารต้นทุนเสริมประสิทธิภาพเต็มกำลัง


กรุงเทพฯ (18 เมษายน 2568) – กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) รายงานผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2568 มีกำไรสุทธิจำนวน 7,533 ล้านบาท เติบโต 20.0% จากไตรมาสที่สี่ของปี 2567 โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นความสำคัญของการเติบโตสินเชื่อที่มีคุณภาพ ในภาคธุรกิจที่มีการฟื้นตัว  พร้อมบริหารต้นทุนทางการเงินและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างเต็มศักยภาพ

 
เงินให้สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ 4.7% ท่ามกลางความท้าทายและปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ขณะที่สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรวมทั้งสินเชื่อเพื่อรายย่อยปรับตัวลดลงภายใต้บริบทที่ความไม่แน่นอนและความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น โดยกรุงศรียังคงให้ความสำคัญในการรักษาคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร ด้วยมาตรการสนับสนุนลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ท้าทายผ่านมาตรการช่วยเหลือที่ครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย”

 
สรุปผลประกอบการและฐานะการเงินที่สำคัญสำหรับไตรมาสแรกของปี 2568:


·      กำไรสุทธิ จำนวน 7,533 ล้านบาท ในไตรมาสแรกของปี 2568 เพิ่มขึ้น 20.0% หรือจำนวน 1,257 ล้านบาท จากไตรมาสที่สี่ของปี 2567 โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากยุทธศาสตร์ของกรุงศรีในปี 2568 ที่มุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงนโยบายการบริหารต้นทุนทางการเงินและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างเต็มศักยภาพ รวมถึงการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ กำไรสุทธิทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน


·      เงินให้สินเชื่อรวม ทรงตัวจากสิ้นเดือนธันวาคม 2567 ท่ามกลางความท้าทายและความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น แต่จากการดำเนินงานเชิงรุกที่มุ่งเน้นการเติบโตของสินเชื่อกลุ่มเป้าหมาย  ส่งผลให้เงินให้สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ 4.7% หรือจำนวน 30,904 ล้านบาท ขณะที่สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรวมทั้งสินเชื่อเพื่อรายย่อยปรับตัวลดลง 2.4% และ 2.5% ตามลำดับ


·      เงินรับฝาก เพิ่มขึ้นที่ 0.9% หรือจำนวน 16,753 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม 2567 จากการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนเงินรับฝากที่มีต้นทุนต่ำ ประกอบด้วยเงินรับฝากประจำที่มีอายุน้อยกว่าหกเดือนและเงินรับฝากออมทรัพย์ สุทธิด้วยการลดลงของเงินรับฝากประจำที่ต้นทุนสูงกว่าและระยะเวลานานกว่า สะท้อนการบริหารสภาพคล่องและต้นทุนทางการเงินเชิงรุกและรอบคอบระมัดระวัง


·      ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 4.1% เพิ่มขึ้น 7 เบสิสพอยท์จากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยหลักมาจากต้นทุนเงินรับฝากที่ลดลง สะท้อนการบริหารต้นทุนทางการเงินเชิงรุก ส่งผลให้เกิดการปรับโครงสร้างและระยะเวลาของเงินรับฝากอย่างมีประสิทธิภาพ


·      รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เพิ่มขึ้น 5.4% หรือ 607 ล้านบาท จากไตรมาสแรกของปี 2567 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของหนี้สูญรับคืน กําไรจากทรัพย์สินรอการขายและเงินปันผล


·      อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ ปรับตัวดีขึ้นที่ 45.7% เทียบกับ 46.5% ในไตรมาสก่อนหน้า จากการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การดำเนินงานของธนาคาร


·      อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ที่ 3.29% ขณะที่อัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อรวมปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับ 211 เบสิสพอยท์ ในไตรมาสแรกของปี 2568 เมื่อเทียบกับ 234 เบสิสพอยท์ ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับ 124.5%


·      อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) อยู่ที่ 19.14% เทียบกับ 19.38% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567

 
นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “จากยุทธศาสตร์ของธนาคารที่มุ่งเน้นการเติบโตตามเป้าหมายเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม ภายใต้สภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่ท้าทายและความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น เงินให้สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง จากความต้องการสินเชื่อเพื่อการดำเนินงานและการลงทุน สะท้อนคุณภาพการเติบโตในภาคธุรกิจที่มีการฟื้นตัว”

 
“แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังคงได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อภาคการส่งออกและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ ภัยพิบัติแผ่นดินไหว ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะในภาคการผลิต รวมถึงปัญหาการทะลัก (Flooding) ของสินค้าจีนมายังไทย  ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี”

 
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 กรุงศรี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าในระบบเศรษฐกิจไทยจากมูลค่าสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินรับฝาก และเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 1.90 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.84 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.63 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 317.50 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 19.14% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของคิดเป็น 14.91%