• Krungthai COMPASS เผยอัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค. 68 อยู่ที่ 0.84% คาดเงินเฟ้อมีทิศทางชะลอลงระยะข้างหน้า ท่ามกลางแรงกดดันจากสงครามการค้า ประเมินว่า ทิศทางเงินเฟ้อของไทยระยะข้างหน้ายังมีโมเมนตัมที่อ่อนแรงลง ปัจจัยหลักจากอุปสงค์ภายในประเทศซึ่งมีสัญญาณแผ่ว และทิศทางราคาพลังงานที่ลดลง โดยอุปสงค์ในประเทศยังคงเปราะบาง สะท้อนจากดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ในเดือน ก.พ. 68 ที่ปรับลดลงทั้งหมวดเครื่องจักร ยานพาหนะ และก่อสร้าง ส่งผลให้ดัชนีโดยรวมหดตัว 7.7%YoY
Home สมุทรสงคราม ร่วมมือบูรณาการควบคุมปลาหมอคางดำอย่างยั่งยืน
สมุทรสงคราม ร่วมมือบูรณาการควบคุมปลาหมอคางดำอย่างยั่งยืน

สมุทรสงคราม ร่วมมือบูรณาการควบคุมปลาหมอคางดำอย่างยั่งยืน

จังหวัดสมุทรสงคราม มุ่งมั่นจัดการปลาหมอคางดำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาชนิดนี้ในแหล่งน้ำธรรมชาติลดความชุกชุมลงอย่างมีนัยสำคัญ จากการสำรวจของกรมประมงล่าสุด ระบุว่าพบปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่ในระดับความหนาแน่นต่ำ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำแบบกึ่งธรรมชาติยังคงประสบปัญหาผลผลิต ซึ่งสำนักงานประมงจังหวัดจึงมีแผนดำเนินการจัดการอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาผลผลิต และเสริมรายได้ให้กับเกษตรกร

นายวิรัตน สนิทมัจโร ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า การจัดการปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามจะยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงชุมชนและชาวประมง มีเป้าหมายสามารถควบคุมปริมาณปลาหมอคางดำให้น้อยลง และช่วยเหลือเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำประมาณ 800-900 ราย ซึ่งยังใช้ระบบการเลี้ยงแบบกึ่งธรรมชาติลดผลกระทบจากปลาหมอคางดำ และมีรายได้เสริมจากการเลี้ยงปลานักล่า

ในปี 2568 จังหวัดสมุทรสงคราม ยังคงดำเนินการกำจัดและควบคุมการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำตามมาตรการของกรมประมง ประกอบด้วยการจัดกิจกรรมจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ประมงจังหวัดจัดทำอย่างต่อเนื่องและใช้วิธีปูพรมให้ครบทุกแหล่งน้ำทั่วทั้งจังหวัด การปล่อยปลานักล่า ซึ่งในปีที่ผ่านมา การปล่อยปลานักล่าในปีที่ผ่านมามีส่วนช่วยควบคุมให้ปลาหมอคางดำขนาดใหญ่ลดลงอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำควบคู่กัน

 


การจัดการกำจัดปลาหมอคางดำ ประมงสมุทรสงครามได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และชาวประมง เช่น การยางแห่งประเทศไทยช่วยรับซื้อปลาหมอคางดำทำน้ำหมักชีวภาพ กรมราชทัณฑ์ ทหารเรือ มาร่วมลงแรงช่วยจับปลา ชุมชนและชาวประมงเฝ้าติดตามและแจ้งพบปลาในแหล่งน้ำต่างๆ เป็นต้น

อีกหนึ่งความร่วมมือที่สำคัญมาจากกรมราชทัณฑ์ ซึ่งประมงสมุทรสงครามได้รับการสนับสนุนผู้ต้องขังมาช่วยจับปลาหมอคางดำ และนำไปใช้อย่างมีประโยชน์ เช่น เป็นอาหารสำหรับเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขัง รวมทั้ง การทำโครงการนำปลาหมอคางดำมาแปรรูปเป็นน้ำปลา ภายใต้แบรนด์ “หับเผย แม่กลอง” ควบคู่กับการฝึกอบรมเป็นทักษะอาชีพให้แก่ผู้ต้องขังอีกด้วย

สำหรับในปีนี้ ประมงสมุทรสงครามให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ได้รับผลกระทบ ผ่านการดำเนินโครงการ “สิบหยิบหนึ่ง” ด้วยความร่วมมือจากบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ที่ได้สนับสนุนลูกพันธุ์ปลากะพง ในปีที่ผ่านมา ประมงสมุทรสงครามได้มอบลูกพันธุ์ปลากะพงจำนวน 28,000 ตัวให้แก่เกษตรกร 92 ราย เพื่อปล่อยลงในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยปลากะพงจะทำหน้าที่เป็นปลานักล่าช่วยกำจัดปลาหมอคางดำขนาดเล็ก ขณะเดียวกันเมื่อปลากะพงโตเต็มวัย เกษตรกรสามารถจับขึ้นมาจำหน่าย และเกษตรกรต้องคืนปลากะพงแก่กรมประมงในจำนวนร้อยละสิบของจำนวนที่ได้รับสนับสนุนเพื่อนำไปปล่อยกลับสู่แหล่งน้ำธรรมชาติต่อไป

นอกจากนี้ สำนักงานประมงจังหวัดยังสานต่อ โครงการกองทุนกากชา เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกรในการจัดการปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมทั้งการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน นำปลาที่จับได้มาหมักเป็นปลาร้า 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรวิถีใหม่ร่วมใจพัฒนาบ้านคลองตาจ่า ต.บางยี่รงค์ และองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น กลุ่มตกกุ้งบางพรม ต.บางพรม รวม 20,000 กิโลกรัม ซึ่งเกษตรกรยังนำมาต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จำหน่ายสร้างรายได้ให้ชุมชน เช่น แจ๋วบอง น้ำพริกเผาปลาร้า ปลาส้ม ปลาร้าด่วน เป็นต้น

จังหวัดสมุทรสงครามยังคงเดินหน้ากระบวนการควบคุมปลาหมอคางดำอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยให้ความสำคัญต่อการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งจะนำไปสู่การจัดการปลาหมอคางดำอย่างยั่งยืนในระยะยาว