ปัจจุบันกีฬาแข่งรถสูตรหนึ่ง (F1) กำลังเร่งปรับตัวด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม (ESG) อย่างจริงจัง โดยมีเป้าหมายบรรลุ Net Zero Carbon หรือการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2030 อีกทั้งประเทศไทยก็ยื่นข้อเสนอที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน F1 นับเป็นโอกาสสำคัญที่จะเชื่อมโยงไทยกับเวทีระดับโลก โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสีเขียว
การลดการปล่อยคาร์บอนของกีฬา Formula 1 (F1) สำคัญอย่างไร?
รถแข่ง F1 เป็นต้นแบบนวัตกรรมสำหรับรถยนต์ทั่วไป เมื่อทีมรถแข่ง F1 ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ด้วย พัฒนานวัตกรรมต่างๆ ในรถแข่ง F1 จนมีความเสถียร เทคโนโลยีเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้กับในรถยนต์ทั่วไป เช่น คาร์บอนไฟเบอร์ ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับรถยนต์ทั่วไป เพื่อลดน้ำหนักและเพิ่มความเร็วรถ เทคโนโลยีเครื่องยนต์ไฮบริด (Hybrid Engine) ที่ใช้พลังงานจากทั้งเครื่องยนต์สันดาปภายในและมอเตอร์ไฟฟ้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลดการปล่อยคาร์บอน
นอกจากนี้ ความพยายามด้าน ESG ของ F1 ยังสร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึงวงการยานยนต์และกีฬาอื่น เช่น Formula E ซึ่งเป็นการแข่งขันรถแข่งไฟฟ้าล้วน ได้รับแรงบันดาลใจจาก F1 ในการลดการปล่อยคาร์บอน และประกาศตัวเป็นกีฬารายการแรกของโลกที่มีการรับรองความเป็นกลางทางคาร์บอน (net zero carbon footprint) ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง
บุคคลสำคัญในวงการ F1 หลายคนออกมาสนับสนุนทิศทางสีเขียวนี้อย่างเปิดเผย เช่น ลูอิส แฮมิลตัน แชมป์โลก F1 7 สมัย และผู้ทรงอิทธิในวงการแฟชั่นและเพลง ตัดสินใจเลิกใช้เครื่องบินเจ็ตส่วนตัว เปลี่ยนมาบริโภคมังสวิรัติ และหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ส่วนตัว
การปล่อยคาร์บอนของกีฬา Formula 1 (F1) มาจากไหนบ้าง?
กีฬา F1 ปล่อยคาร์บอนสูงเทียบเท่าประเทศเล็กๆ และเป็นรองเพียงฟุตบอล English Premier League ในปี 2022 กีฬา F1 ปล่อยคาร์บอนกว่า 2.23 แสนตันคาร์บอน หรือเทียบเท่ากับการปล่อยคาร์บอนจากประเทศเล็กๆ เช่น วานูอาตู ตองก้า โดมินิกา
คนทั่วไปมักคิดว่ารถแข่ง F1 เป็นแหล่งปล่อยคาร์บอนมากที่สุด แต่ในความเป็นจริงรถแข่ง F1 ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่า 1% ของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดจากกีฬานี้ โดยการปล่อยคาร์บอนเกือบครึ่งหนึ่ง (49%) มากจากการขนส่งเป็นหลัก ตามด้วยการเดินทางเพื่อธุรกิจ (29%) การจัดอีเว้นท์ เช่น ขยะจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) (12%) โรงงานและสิ่งอำนวยความสะดวก (10%)
กีฬา F1 จะลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างไร?
FIA ผู้ดูแลการแข่งขัน F1 วางแผนบรรลุ Net Zero Carbon Emission ภายในปี 2030 โดยมีแนวทางปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องกับการปล่อยคาร์บอนดังนี้
1. เปลี่ยนเทคโนโลยีเครื่องยนต์ให้สร้างไฟฟ้าได้มากกว่าเดิมราว 3 เท่า ปัจจุบันรถแข่ง F1 ใช้เครื่องยนต์ไฮบริดเทอร์โบ V6 ที่ขึ้นชื่อว่าให้พลังงานสูงที่สุดเมื่อเทียบกับปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้ และในปี 2026 F1 ออกแบบแบตเตอรี่รถยนต์ให้สามารถสร้างไฟฟ้าได้มากขึ้นจาก 120 kW เป็น 350 kW โดยเทคโนโลยีนี้อาจถูกถ่ายทอดไปยังรถยนต์ทั่วไป ผ่านค่ายรถยนต์ชื่อดัง อาทิ Ferrari Mercedes Audi และ Honda
2. ใช้พลังงานยั่งยืน 100 % ในรถแข่ง โดยไม่ลดความเร็วหรือสมรรถนะ เช่น พลังงานจากขยะ ซึ่งจะส่งผลดีต่อสังคมและช่วยพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
3. ใช้พลังงานสะอาดในการขนส่ง โดยไม่กระทบเวลาจัดส่ง เช่น เชื้อเพลิงชีวมวลยุคที่ 2 (second generation biofuel) และน้ำมันพืชไฮโดรทรีต (HVO) ถูกใช้ทดแทนพลังงานฟอสซิลในการขนส่งอุปกรณ์ระหว่างแต่ละสนามในยุโรป
4. ใช้พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้า ให้เพียงพอต่อความต้องการในทุกสนามแข่ง จาก HVO และโซลาร์เซลล์ทดแทนพลังงานไฟฟ้าจากดีเซล
5. จัดการขยะจากอีเว้นท์แบบหมุนเวียนครบวงจร ขยะทุกชิ้นจะถูกนำไปรีไซเคิล ทำปุ๋ยหมัก และใช้ซ้ำ (Re-used) อีกทั้งยังคำนึงถึงความยั่งยืนในการผลิตอาหารและสินค้าสำหรับจำหน่ายมากขึ้น รวมถึงลดการใช้ Single-use plastic
6. ลดการปล่อยคาร์บอนจากการเดินทางของผู้ชม เช่น เพิ่มช่องทางและจำนวนที่นั่งสำหรับบริการขนส่งสาธารณะสำหรับการเดินทางมายังสนามแข่ง เพิ่มสถานีชาร์จ EV รอบสนามแข่ง และบริการรถจักรยานฟรี รวมถึงเปลี่ยนไปจัด online event เพิ่มขึ้น เพื่อลดการเดินทาง
กีฬา F1 วางแผนลดการปล่อยคาร์บอนโดยใช้พลังงานสะอาดในรถยนต์ การขนส่ง และการผลิตไฟฟ้า พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้วัสดุและการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะเป็นต้นแบบนวัตกรรมสีเขียวต่อหลายภาคส่วนในอนาคต
แผนลดคาร์บอนของ F1 เปิดโอกาสธุรกิจไทยสู่การเติบโตที่ยั่งยืน
การเป็นเจ้าภาพแข่งขัน F1 ดึงดูดผู้ชมในประเทศและต่างชาติหลายแสนคน ตั้งแต่ก่อนสัปดาห์แข่งขันเพื่อเตรียมตัว ตลอดจนสัปดาห์แข่งขัน ก่อให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศเป็นจำนวนมาก จากค่าโรงแรม ร้านอาหาร และการจับจ่ายซื้อ ตัวอย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเจ้าภาพ F1 มาตั้งแต่ปี 2008 มีรายได้เพิ่มจากนักท่องเที่ยวที่เข้าชม F1 ราว 143 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปี (ประมาณ 3.6 พันล้านบาท)
อย่างไรก็ดี การลงทุนเป็นเจ้าภาพแข่งขัน F1 อาจขาดทุน จนทำให้บางประเทศตัดสินใจยุติการเป็นเจ้าภาพ เช่น เกาหลีเคยขาดทุนราว 37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.2 พันล้านบาท) ในปี 2012 จนต้องถอนตัว ก่อนจะกลับมาเสนอร่วมเข้าเป็นเจ้าภาพแข่งขันอีกครั้งในช่วงที่ผ่านมา อินเดียขาดทุนราว 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8 ร้อยล้านบาท) ในปี 2013 มาเลเซียขาดทุนจากจำนวนผู้ชมที่ลดลงและต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ก่อนจะยุติการเป็นเจ้าภาพตั้งแต่ปี 2018
ภาคการท่องเที่ยว
หากไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดกีฬา F1 คาดว่าจะดึงดูดผู้ชมราว 2-3 แสนคน ช่วยกระตุ้น GDP 0.04% ต่อปี หรือคิดเป็น 0.4% ของรายได้จากการท่องเที่ยวไทย และใช้ระยะเวลาคืนทุน 3-4 ปี จากการใช้จ่ายราว 7 พันล้านบาทในช่วงสุดสัปดาห์แข่งขัน แต่หากไทยไม่ได้เป็นเจ้าภาพ ธุรกิจท่องเที่ยวก็ยังได้รับผลดีจากแผนการลดคาร์บอนของกีฬา F1 โดยเฉพาะการพัฒนาระบบนิเวศงานอีเวนต์ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ เช่น
การโปรโมทประเทศและธุรกิจไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก การเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน F1 นับเป็นการโชว์ศักยภาพประเทศในระดับสากล อีกทั้งการเป็นผู้สนับสนุนทีมรถแข่งขันอย่างเป็นทางการ ช่วยโปรโมทภาพลักษณ์บริษัทและประเทศให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ในอนาคตบริษัทไทยด้านพลังงานสะอาดหรือ EV อาจเข้ามาสนับสนุนทีมแข่งหรือโฆษณาสินค้าระหว่างการแข่งขันได้เช่นกัน
การเพาะปลูก การปศุสัตว์ การผลิตและการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ จะเป็นต้องการมากขึ้น เนื่องจากอีเวนต์และสนามแข่งขัน F1 ต้องการผลิตภัณฑ์อาหารและสินค้าสำหรับจำหน่ายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ถ้าภาคเอกชนต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการจัดอีเวนต์แข่งขัน F1 เพื่อโอกาสทางธุรกิจ อาจต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับระเบียบของ FIA ขณะที่ภาครัฐอาจพิจารณาเครื่องมือสนับสนุนธุรกิจ เช่น มาตรการจูงใจทางภาษี การจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยมลพิษ
โดย : นราพร สังสะนา
นักวิจัย
naraphon.s@kasikornresearch.